-
@ HereTong
2025-05-17 03:21:54ยังมีเรื่องราวของน้ำตาล และ เซลล์ มาคุยกันต่อนะครับ เพราะยังมีคนสงสัยอยู่ว่า เอ้ย ตกลงต้องห่วงการ Spike&Staylong ของอินซุลินอยู่หรือเปล่า แล้วถ้าเราไม่ spike&staylong ก็คือกินคาร์บเบาๆตลอดวันได้เลยใช่ไหมก็มันไม่ spike&staylong แล้วนี่ โอเคครับ เรามาเปิดผับกันอีกครั้ง
คราวก่อนนั้นเราคุยกันเรื่อง ผับน้ำตาลกันไปแล้วนะครับว่า เมื่ออินซูลิน spike สูง และค้างนาน เหมือนเปิดผับแล้ววัยรุ่นแห่กันเข้ามาเที่ยว จนพีอาร์เมาจัด
เผื่อใครจำไม่ได้ ย้อนให้นิดๆครับ ว่าให้ลองนึกภาพว่าเฮียเปิดผับอยู่ดี ๆ ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามารัว ๆ เหมือนมีโปรเบียร์ 1 แถม 10 ตอนสามทุ่ม ทุกโต๊ะสั่งข้าวเหนียวหมูปิ้งพร้อมเบียร์น้ำแข็งเต็มโต๊ะ นักเที่ยวก็ยังแห่เข้าผับแบบไม่มีพัก อินซูลินซึ่งเป็นเหมือน “พีอาร์” ที่ต้องจัดการรับแขก (หรือรับน้ำตาลเข้าสู่เซลล์) ก็เลยต้องทำงานหนักแบบ non-stop
อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยเอาน้ำตาลในเลือดเข้าไปเก็บในเซลล์ ถ้า spike ทีเดียวสูงมาก เซลล์ก็รีบดูดน้ำตาลเข้าไปเต็มที่จนเกินพิกัด เหมือนผับที่แน่นจนปิดประตูไม่ลง
ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ร่างกายจะเริ่มรู้สึกว่า “ทำไมอินซูลินถึงต้องออกมาบ่อยขนาดนี้วะ?” ระบบก็เริ่มปิดรับแขก เซลล์เริ่มไม่อยากตอบสนอง เพราะมันเหนื่อย มันชิน และมันก็เริ่ม “ดื้ออินซูลิน”
ผลที่ตามมาเมื่อ spike สูงและค้าง สิ่งที่ตามมา... คือความปั่นป่วนในร่างกายอย่างต่อเนื่อง น้ำตาลลอยค้างในเลือด ไปจับกับโปรตีนจนกลายเป็นเจ้า AGEs ตัวร้าย ไขมันก็ถูกสร้างมากขึ้น ล้นเข้าไปสะสมในตับ ในพุง ในซอกที่ร่างกายไม่รู้จะเก็บไว้ตรงไหนแล้ว สมองก็เบลอ ใจวูบ ง่วงงุน... เหมือนเข้าเวรประชุมยาวแบบไม่มีกาแฟ ฮอร์โมนที่เคยเป็นทีมงานสามัคคี ก็เริ่มทะเลาะกันเอง อินซูลินงอน leptin งง ghrelin งวย
แล้วถ้าเราไม่ spike แต่กินคาร์บจุ๋มจิ๋มทั้งวันล่ะ? พอรู้ว่าการเปิดผับแจกคาร์บแบบจัดหนักไม่ดี หลายคนก็ปรับกลยุทธ์ใหม่ มาแนวสายสุขุมว่า “งั้นเปิดผับแบบเนิบ ๆ ก็แล้วกัน… ไม่จัดปาร์ตี้ใหญ่ แต่มีแขกแวะเข้ามาทั้งวัน” ฟังดูดีใช่ไหม? แต่เอาเข้าจริง มันเหนื่อยไม่แพ้กันเลย
ลองนึกภาพว่าประเทศไม่มีเคอร์ฟิว เฮียเปิดผับที่มีลูกค้าเดินเข้าออกไม่หยุด ไม่ได้มากันเป็นฝูงแบบรอบโปรโมชั่น แต่มาเรื่อย ๆ แบบชั่วโมงละโต๊ะ สองโต๊ะ พีอาร์ อินซูลิน ก็เลยต้องยืนต้อนรับแขกตลอดเวลา ไม่มีเวลานั่งพัก ไม่มีช่วงเปลี่ยนกะ ไม่มีเวลาปิดไฟเก็บโต๊ะ คือทำงานต่อเนื่องยาว ๆ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ยัน 8 โมงเช้า สุดท้าย ผับก็เปิดไฟยันสว่าง อินซูลินก็กลายเป็นพนักงานกะดึกตลอดชีพ และเมื่อไม่มีเวลา “พักผับ” ระบบหลังบ้านก็ไม่เคยได้ฟื้นฟูเลย
ภาพรวมของการกินจุ๋มจิ๋มทั้งวันแบบนี้นั้น - เผาผลาญไขมันไม่ออกเลย เพราะอินซูลินทำหน้าที่เหมือนไฟบนเวที ถ้ายังเปิดไฟอยู่ “เครื่องดูดไขมันหลังร้าน” มันก็ไม่ทำงาน - แม่บ้านทำความสะอาดก็เข้าไม่ได้ เพราะแขกเดินเข้าเดินออกตลอด ระบบกำจัดที่ควรจะได้ล้างของเสียในเซลล์ ก็เลยโดนขัดจังหวะตลอด - พนักงานเหนื่อยสะสมจากงานไม่มีหยุด ทำให้เกิดความเครียดสะสมในร่างกาย ฮอร์โมนรวน อารมณ์ก็แปรปรวนง่ายขึ้น หิวเก่งขึ้น ทั้งที่เพิ่งกินไป
เปิดผับแบบคึกคักจัดเต็มทีเดียว แล้วปิดยาว หรือ เปิดทั้งวันแบบไม่มีช่วงปิด สุดท้ายพังทั้งคู่
ทีนี้เราน่าจะพอเห็นภาพร่างคร่าวๆ ของการบริหารการจัดการน้ำตาลในตัวเราได้แล้วนะครับ ว่าจะไดเอทไหนก็ตาม การบริหารการจัดการฮอร์โมนส์ คือสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ แม้จะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในสายตาใครก็ตาม
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้เล็กๆ ซึ่งเส้นทางสายที่เรียกว่า ร่างกาย มันยังไปไกลอีกลิบลับเลยครับ ไม่ว่าจะจังหวัดคอติซอล จังหวัดพฤกษเคมี จังหวัดพลังงาน จังหวัดสารอาหาร แถมลักษณะร่างกายแต่ละคน ก็เปรียบเหมือนรถต่างยี่ห้อ ต่างน้ำมันขับเคลื่อน ต่างซีซี หรือแม้ว่าจะเหมือนกัน ก็ยังต่างปี ต่างไมล์การขับขี่
#pirateketo #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก #siamstr