-
@ Tintin
2025-05-25 01:56:39ไขความลับรหัส 13 ตัวอักษรของ FT8: ศาสตร์แห่งการบีบอัดข้อมูลสื่อสารดิจิทัล คืนหนึ่ง ผมนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มองสัญญาณ FT8 กระพริบไปมา ส่งข้อความสั้นๆ ซ้ำไปซ้ำมา "CQ HS1IWX OK03" แล้วก็รอให้ใครสักคนตอบกลับ วนลูปไปอย่างไม่รู้จบ จนเกิดคำถามขึ้นมาในหัว... “นี่เรานั่งทำอะไรกันแน่?” FT8 มันควรเป็นอะไรมากกว่านี้ใช่ไหม? ไม่ใช่แค่การส่งคำสั้นๆ 13 ตัวอักษรไปมาเท่านั้น! เอ๊ะ! เดี๋ยวก่อน... 13 ตัวอักษร? ถ้าการส่งข้อความจำกัดที่ 13 ตัวอักษร แล้วทำไมข้อความอย่าง "CQ HS1IWX OK03" ซึ่งดูเหมือนจะมี 14 ตัวอักษร (รวมช่องว่าง) ถึงสามารถส่งได้? นี่มันต้องมีอะไรซ่อนอยู่! ระบบ FT8 ใช้เวทมนตร์อะไร หรือมันมีเทคนิคการเข้ารหัสแบบลับๆ ที่เรายังไม่รู้? และคำว่า "13 ตัวอักษร" ที่เขาพูดถึงนั้นหมายถึงอะไรกันแน่? แล้วลองนึกดูสิ... ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องส่งข้อความที่สั้น กระชับ และมีความหมาย ในขณะที่แบตเตอรี่เหลือน้อย กำลังส่งต่ำ และอุปกรณ์มีเพียงเครื่องวิทยุขนาดเล็กกับสายอากาศชั่วคราวและมือถือ บางครั้ง FT8 อาจจะเป็นตัวเลือกเดียวที่ช่วยให้เราส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ เพราะมันสามารถถอดรหัสได้แม้สัญญาณอ่อนจนแทบจะมองไม่เห็น! ดังนั้น ผมต้องขุดลึกลงไป เพื่อไขความลับของรหัส 13 ตัวอักษรของ FT8 และหาคำตอบว่า ทำไม FT8 สามารถส่งข้อความบางอย่างที่ดูเหมือนยาวเกินขีดจำกัดได้? พร้อมกับสำรวจว่ามันสามารถช่วยเหลือเราในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร! อะไรคือความหมายที่แท้จริงของ 13 ตัวอักษร ? เมื่อเริ่มเจาะลึกลงไป ผมจึงได้รู้ว่า 13 ตัวอักษรที่เราพูดถึงนั้นหมายถึง ข้อความใน Free Text Mode หรือก็คือ ข้อความที่ไม่ได้ถูกเข้ารหัสในรูปแบบมาตรฐานของ FT8 หากเราส่งข้อความแบบอิสระ เช่น "HELLO WORLD!" หรือ "EMERGENCY CALL" เราจะถูกจำกัดแค่ 13 ตัวอักษรเท่านั้น เพราะข้อความเหล่านี้ไม่ได้ถูกเข้ารหัสให้เหมาะสมกับโปรโตคอลของระบบ FT8 แต่ถ้าเป็น ข้อความมาตรฐานที่ถูกกำหนดรูปแบบไว้แล้ว เช่น Callsign + Grid หรือ รายงาน SNR (-10, 599, RR73) ระบบ FT8 จะใช้การเข้ารหัส 77-bit Structured Message ซึ่งช่วยให้สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่า 13 ตัวอักษร! อะไรคือ โครงสร้าง 77-bit Message ใน FT8 FT8 ใช้ 77 บิต สำหรับการเข้ารหัสข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก: ส่วนของข้อมูล จำนวนบิต รายละเอียด Callsign 1 (ต้นทาง) 28 บิต รหัสสถานีที่ส่ง Callsign 2 (ปลายทาง) 28 บิต รหัสสถานีปลายทาง หรือ CQ Exchange Data 21 บิต Grid Locator หรือข้อมูลอื่น ๆ รวมทั้งหมด = 28 + 28 + 21 = 77 บิต การที่ FT8 ใช้โครงสร้างแบบนี้ ข้อความที่ถูกเข้ารหัสในมาตรฐาน FT8 จึงสามารถส่งได้มากกว่า 13 ตัวอักษร เช่น "CQ HS1IWX OK03" นั้นถูกเข้ารหัสให้อยู่ใน 77 บิต ไม่ใช่ Free Text แบบปกติ ทำให้สามารถส่งได้โดยไม่มีปัญหา! แต่ข้อสำคัญมันคือโปโตคอลของระบบ FT8 ในปัจจุบัน ถ้าเราต้องการ เข้ารหัสเองในรูปแบบของเราเราก็ต้องพัฒนาโปรแกรม FT8 ของเราเอง (ผมทำไม่เป็นครับ555) ก็ใช้ของเขาไปก็ได้ แล้วก็มาพัฒนาระบบ เทคนิคการส่งข้อมูลให้มีประสิทธิภาพภายใน 13 ตัวอักษร กันน่าจะสนุกกว่า ส่วนเรื่องรายละเอียดวิธีการเข้ารหัสผมคงไม่พูดถึงนะ เดี๋ยวจะวิชาการน่าเบื่อไปครับ ใครสนใจก็ไปศึกษาต่อกันเอาเองครับ การเข้ารหัสนี้จะใช้ร่วมกับเทคนิค FEC (Forward Error Correction) ใน FT8 ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ทำให้ FT8 สามารถถอดรหัสข้อความได้แม้ในสภาวะสัญญาณอ่อน คือการใช้ Forward Error Correction (FEC) หรือ การแก้ไขข้อผิดพลาดล่วงหน้า ซึ่งช่วยให้สามารถกู้คืนข้อมูลที่อาจเกิดการสูญหายในระหว่างการส่งสัญญาณได้ โดย FT8 ใช้ Reed-Solomon (RS) Error Correction Code ซึ่งเป็นอัลกอริธึมที่เพิ่มบิตสำรองเพื่อช่วยตรวจจับและแก้ไขข้อผิดพลาดในข้อความที่ส่งไป และ ใช้ Convolutional Encoding และ Viterbi Decoding ซึ่งช่วยให้สามารถแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดจากสัญญาณรบกวนได้ ซึ่งเมื่อสัญญาณอ่อน ข้อมูลบางส่วนอาจสูญหาย แต่ FEC ช่วยให้สามารถกู้คืนข้อความได้แม้ข้อมูลบางส่วนจะขาดหาย ทำให้ผลลัพธ์คือ FT8 สามารถทำงานได้แม้ระดับสัญญาณต่ำถึง -20 dB! ซึ่งส่วนนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจมันดีเท่าไหร่ครับ อิอิ ฟังเขามาอีกที สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ในโปรแกรม FT8 ในปัจจุบันก็คือ เทคนิคการส่งข้อมูลให้มีประสิทธิภาพภายใน 13 ตัวอักษรถ้าเรา อยากส่งข้อความฉุกเฉินภายใน 13 ตัวอักษร ให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เราต้องใช้เทคนิคต่อไปนี้: การใช้ตัวย่อและรหัสสากล • SOS 1234 BKK แทน "ขอความช่วยเหลือที่พิกัด 1234 ใกล้กรุงเทพ" • WX BKK T35C แทน "สภาพอากาศกรุงเทพ 35 องศา" • ALRT TSUNAMI แทน "เตือนภัยสึนามิ" ใช้ข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย • ใช้โค้ดสั้นๆ เช่น "QRZ EMRG?" แทน "ใครรับสัญญาณฉุกเฉิน?" การส่งข้อความเป็นชุด • เฟรม 1: MSG1 BKK STORM1 • เฟรม 2: MSG2 BKK STORM2 • เฟรม 3: MSG3 BKK NOW “การฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อได้รับข้อความเหล่านี้ เราจะสามารถถอดรหัสและติดตามข้อมูลได้อย่างทันท่วงที” ครั้งนี้อาจเป็นเพียงการค้นพบอีกด้านหนึ่งของ FT8… หรือมันอาจเปลี่ยนมุมมองของคุณที่มีต่อโหมดสื่อสารดิจิทัลไปตลอดกาลก็ได้ แต่เดี๋ยวก่อน—นี่มันอะไรกัน!? จู่ๆ บนจอคอมพิวเตอร์ของผมก็ปรากฏคอลซายที่ไม่คุ้นตา D1IFU—คอลซายที่ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลของ ITU แต่กลับปรากฏขึ้นบนคลื่นความถี่ของเรา D1…? มันมาได้ยังไง? แล้วทันใดนั้น ผมก็ฉุกคิดขึ้นมา—มันคือคอลซายจากพื้นที่ Donetsk หรือ Luhansk พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ดินแดนที่เราคิดว่าเงียบงันภายใต้เสียงระเบิดและความไม่แน่นอน แต่ตอนนี้ กลับมีสัญญาณเล็กๆ ปรากฏขึ้นบน FT8 มันคือใครกัน? เป็นทหาร? เป็นพลเรือนที่พยายามติดต่อโลกภายนอก? หรือเป็นเพียงนักวิทยุสมัครเล่นที่ยังคงเฝ้าฟังแม้โลกจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย? แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัด… “นี่คือสัญญาณแห่งชีวิต” จบข่าว. 🚀📡