-
@ HereTong
2025-05-26 06:12:06น้ำมันอัลมอนด์ เป็นหนึ่งในน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมอย่างเงียบ ๆ ทั้งในวงการสุขภาพ ความงาม และอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสุขภาพที่มองหาทางเลือกของไขมันดีจากธรรมชาติ แม้อาจไม่โด่งดังเท่าน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันอะโวคาโด แต่คุณสมบัติของมันกลับน่าสนใจไม่น้อย และมีประวัติการใช้งานมายาวนานตั้งแต่ยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมียจนถึงอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งมีการใช้อัลมอนด์ทั้งในรูปของอาหารและยาท้องถิ่น น้ำมันอัลมอนด์ที่นำมาใช้ในปัจจุบัน มักได้จาก “อัลมอนด์หวาน” (Sweet almond – Prunus dulcis var. dulcis) ซึ่งต่างจากอัลมอนด์ขม (Prunus dulcis var. amara) ที่มีสารอะมิกดาลิน (amygdalin) ซึ่งสามารถแตกตัวเป็นไซยาไนด์ได้ จึงไม่เหมาะกับการบริโภคโดยตรง
วิธีการผลิตน้ำมันอัลมอนด์ในรูปแบบที่พบมากในท้องตลาด มีอยู่ 2 แบบหลัก คือ การสกัดเย็น (Cold-pressed) ซึ่งนิยมในกลุ่มสุขภาพเพราะไม่ผ่านความร้อนและไม่ใช้สารเคมี ทำให้คงสารอาหารและพฤกษเคมีธรรมชาติไว้ได้ดี กับอีกแบบคือการสกัดด้วยตัวทำละลาย (เช่น hexane) ซึ่งทำให้ได้น้ำมันปริมาณมากแต่ต้องผ่านการฟอกและกลั่น ทำให้สูญเสียกลิ่น สี และสารบางชนิดในธรรมชาติไป น้ำมันที่ได้จะเป็นของเหลวใส สีเหลืองทองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายน้ำมันมะกอก
ในแง่ขององค์ประกอบไขมัน น้ำมันอัลมอนด์มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะกรดโอเลอิก (oleic acid – omega-9) ประมาณ 62–70% และกรดลิโนเลอิก (linoleic acid – omega-6) ประมาณ 20–30% ส่วนกรดไขมันอิ่มตัวมีเพียงเล็กน้อยราว 6–8% เท่านั้น ทำให้จัดอยู่ในกลุ่มน้ำมันที่มีไขมันดีสูง คล้ายคลึงกับน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังมีวิตามินอีธรรมชาติ (tocopherol) อยู่ราว 39.2–46.4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และ phytosterols ราว 280–320 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทในการปกป้องเซลล์จากการเสื่อมและการอักเสบ
กรดลิโนเลอิก (LA) เองในธรรมชาติไม่ใช่ตัวร้ายนะจ๊ะ ร่างกายต้องใช้มันเล็กน้อยเพื่อเป็นโครงสร้างของเซลล์ และสร้างสาร prostaglandin บางชนิด จะเห็นว่าน้ำมันอัลมอนด์อยู่กลาง ๆ ระหว่างน้ำมันพืชสายฟังดูดีอย่างคาโนลา กับน้ำมันมะกอก ซึ่งแปลว่า ไม่ได้แย่มาก แต่ก็ไม่จัดว่าต่ำ เฮียจะพิจารณาให้เหมาะกับเป้าหมายสุขภาพของตัวเองได้เลย สาย anti-inflammatory, animal-based, ketogenic หรือ low-PUFA lifestyle ก็อาจจะจำกัด ปริมาณ LA ให้ไม่เกิน 2–4% ของพลังงานรวมต่อวัน (แนวทางที่ Dr. Cate Shanahan และ Dr. Chris Knobbe แนะนำ)
ถึงอย่างนั้น หากมองในแง่ของ “พฤกษเคมี” ที่จะอวดอ้างสรรพคุณทางสุขภาพ ต้องยอมรับว่าน้ำมันอัลมอนด์ยังไม่ใช่น้ำมันที่เด่นที่สุด เพราะปริมาณสาร polyphenols และ flavonoids นั้นน้อยกว่าน้ำมันจากผลไม้ เช่น น้ำมันมะกอกแบบ extra virgin หรือน้ำมันงาดำแบบสกัดเย็น กล่าวคือ แม้จะพอมีสารที่ดี แต่ปริมาณยังไม่มากพอให้เกิดผลทางชีวภาพอย่างชัดเจนจากการบริโภคตามปกติ ดังนั้นในด้านการตลาด แม้มีการกล่าวอ้างว่าน้ำมันอัลมอนด์ดีต่อหัวใจและต้านอนุมูลอิสระ ควรพิจารณาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้แสดงวิธีการผลิตและปริมาณของสารออกฤทธิ์อย่างชัดเจน
สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน น้ำมันอัลมอนด์มีจุดเกิดควันอยู่ที่ประมาณ 216–221°C ทำให้สามารถใช้ประกอบอาหารแบบผัดหรืออบได้ แต่ไม่เหมาะกับการทอดแบบ deep fry เพราะอาจเกิดออกซิเดชันเร็วจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ส่วนในวงการเครื่องสำอางและสกินแคร์ น้ำมันอัลมอนด์ถือเป็นน้ำมันยอดนิยมที่ใช้เป็นเบสน้ำมันสำหรับนวดตัว หรือผสมในโลชั่น เพราะซึมง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ และอ่อนโยนต่อผิว โดยเฉพาะในเด็กเล็กก็ยังใช้ได้ดี
ในประเทศไทย น้ำมันอัลมอนด์ที่จำหน่ายมีทั้งผลิตภัณฑ์นำเข้าในรูปแบบ refined หรือ cold-pressed โดยมีทั้งแบบใช้ปรุงอาหาร และแบบสำหรับใช้ภายนอก เฮียแนะนำว่า ถ้าจะเลือกใช้กินควรเลือกให้ตรงความต้องการจริงๆ ถ้าเป็นแบบ cold-pressed ที่ระบุแหล่งผลิตชัดเจน เพื่อความมั่นใจในกระบวนการ และควรเก็บในขวดทึบแสง หลีกเลี่ยงความชื้นและแสงแดด เพราะน้ำมันประเภทนี้เหม็นหืนได้ง่ายเมื่อสัมผัสอากาศและแสงนาน ๆ
แม้น้ำมันอัลมอนด์จะไม่ได้มีพลังวิเศษแบบที่ใคร ๆ โปรยคำโฆษณาไว้ แต่ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมันอย่างถ่องแท้ เฮียว่าก็ถือเป็นไขมันดีอีกตัวที่น่ามีไว้ในครัว โดยเฉพาะในเมนูอบ เบเกอรี่ หรืออาหารที่ต้องการรสชาติกลมกล่อมหอมมันแบบนุ่มละมุนที่มาพร้อมวิตามินอีจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องง้อสารกันหืนเทียมจากโรงงาน #pirateketo #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก #siamstr