-
@ HereTong
2025-05-27 01:45:49เราค่อยๆลำดับเรื่องราวเริ่มจากเบาๆกันก่อนนะครับ หากย้อนกลับไปในปี 2009 บนเส้นทางที่โลกกำลังสับสนระหว่างการกินที่อิงธรรมชาติกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงอาหารแบบสุดขั้ว Ethan Brown ได้ก่อตั้งบริษัท Beyond Meat ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าอยากสร้าง "เนื้อจากพืช" ให้มีรสชาติ เนื้อสัมผัส และประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่คือภาพลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ธงของความยั่งยืน แต่เบื้องลึกกลับแฝงความเงียบงันอยู่ใต้เงาเทคโนโลยี
Ethan Brown ไม่ใช่คนที่ตื่นเช้ามาแล้วอยากเปลี่ยนโลกในทันที เขาเติบโตมากับพ่อที่เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ มีฟาร์มโคนมเล็ก ๆ ให้ได้สัมผัสความจริงของเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และรัฐบาล ต่อด้วยปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก University of Maryland และ MBA จาก Columbia University เขาเคยทำงานด้านนโยบายพลังงานทางเลือกที่ National Governors Association และบริษัท Ballard Power Systems ก่อนจะย้ายขั้วจากพลังงานสู่โปรตีนแทน
ช่วงหนึ่งเขาพูดใน TED ว่า “ผมมองเห็นว่าอาหารนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์อย่างลึกซึ้ง แต่เราแทบไม่พูดถึงเรื่องนี้ในระดับระบบเลย” เขาเห็นว่าสัตว์คือ “เครื่องจักรแปลงโปรตีนจากพืชไปเป็นเนื้อ” ซึ่งเขาเชื่อว่ามัน “ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว” ในศตวรรษที่ 21
Beyond Meat ไม่ได้ใช้สูตรการต้มถั่วแล้วปั้นเป็นเบอร์เกอร์แบบบ้าน ๆ แต่ใช้กระบวนการแปรรูปที่ซับซ้อนระดับอุตสาหกรรมที่เรียกว่า High Moisture Extrusion (HME) ที่ต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะราคาแพงมาก เพื่อดัดแปลงโปรตีนพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ให้มีโครงสร้างเหมือนกล้ามเนื้อสัตว์ ทั้งเส้นใย ความชุ่มฉ่ำ และแรงต้านเมื่อกัด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำในครัวชาวบ้านได้ง่าย ๆ
บริษัทได้รับทุนสนับสนุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจากกลุ่มนักลงทุนที่มีอิทธิพลใน Silicon Valley เช่น Kleiner Perkins และ Obvious Corporation ของ Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ก่อนจะขยายฐานนักลงทุนไปยัง Tyson Foods (ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯ ที่ลงทุนใน Beyond Meat ก่อนจะถอนตัวภายหลัง) และนักแสดงฮอลลีวูดอย่าง Leonardo DiCaprio การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น (IPO) ปี 2019 ก็ยิ่งสร้างกระแสให้บริษัทกลายเป็นภาพตัวแทนของการกินอนาคตที่ยั่งยืน ทว่าในความหรูหรานั้น มีรอยร้าวแฝงอยู่เสมอ
ในขณะที่ภาพจำของ Beyond Meat ถูกวาดว่าเป็น “ทางรอดของโลก” และ “อาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม” รัฐบาลสหรัฐฯ ก็สนับสนุนทิศทางนี้อย่างเงียบเชียบ ด้วยการอัดงบประมาณกว่า 125 ล้านดอลลาร์เข้าสู่อุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น หน่วยงานวิจัย USDA และกองทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีอาหาร ไม่ต่างจากรัฐบาลอิสราเอลที่ทุ่มงบกว่า 18 ล้านดอลลาร์ให้บริษัทเนื้อเพาะเลี้ยงแบบไม่มีอ้อมค้อม ทั้งหมดนี้กำลังสร้างระบบอาหารที่ไม่ต้องพึ่งดิน ไม่ต้องพึ่งแดด ไม่ต้องพึ่งเกษตรกร แต่ขึ้นอยู่กับโรงงานที่ควบคุมโดยบริษัทมหาชนเพียงไม่กี่เจ้า
เมื่อมองให้ลึกลงไป Beyond Meat ไม่ใช่แค่บริษัทอาหาร แต่คือจุดเริ่มต้นแรกๆของโลก ในด้านระบบนิเวศใหม่ที่ตัด “คนตัวเล็ก” ออกจากสมการเกษตรกรรมโดยสิ้นเชิง เกษตรกรจะไม่มีทางผลิต “เนื้อจากพืช” เหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง วัตถุดิบเฉพาะ และสูตรการแปรรูปที่ถูกจดสิทธิบัตรไว้หมดแล้ว ระบบอาหารจึงค่อย ๆ ถูกปิดตายภายใต้รั้วของลิขสิทธิ์ เหมือนโลกของซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใครแตะต้องโค้ดต้นฉบับได้ ทุกคำที่เคี้ยวอาจกลายเป็นทรัพย์สินของใครบางคน และในวันที่ดินผืนสุดท้ายไม่ได้ปลูกพืช แต่กลายเป็นโรงงานสังเคราะห์โปรตีน นั่นแหละที่มนุษย์จะพบว่า ตนเองไม่ได้เป็น “ผู้ผลิตอาหาร” อีกต่อไป แต่กลายเป็น “ผู้บริโภค” ตลอดกาล
แม้ตัวเลขยอดขายของ Beyond Meat จะพุ่งขึ้นในช่วงแรกหลังเข้าตลาดหุ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับสะท้อนความจริงที่น่าสนใจว่าสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกของโลก อาจไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนเลยก็ได้
ในปี 2022 บริษัทประกาศลดพนักงานลง 19% และราคาหุ้นร่วงลงกว่า 80% จากจุดสูงสุด พร้อมกับข่าวคราวที่ส่อให้เห็นปัญหาด้านความปลอดภัยในสายการผลิต และยอดขายที่ไม่เติบโตตามเป้า แม้จะพยายามขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่คนทั่วไปเริ่มตระหนักว่า “เนื้อจากพืช” ที่แปรรูปหนักอาจไม่ใช่คำตอบของสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเชื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการสำรวจในอเมริกาและยุโรปเริ่มชี้ว่า คนที่เคยทดลองกิน plant-based meat กลับไม่ซื้อซ้ำ โดยให้เหตุผลว่าไม่อร่อย แพง และไม่เชื่อว่าเป็นอาหารที่ดีต่อร่างกายจริง ๆ อีกทั้งบางรายถึงกับบอกว่ารู้สึกแปลกแยก เพราะอาหารที่มีส่วนผสมเยอะและชื่อส่วนประกอบที่อ่านไม่ออก มักทำให้คนรู้สึกว่าไม่ใช่อาหารธรรมชาติ ซึ่งขัดกับความตั้งใจเดิมที่อยากกินอาหารเพื่อสุขภาพ
คำว่า “ยั่งยืน” จึงไม่เพียงพอจะอธิบายได้ว่าอะไรคือสิ่งดีจริง ๆ เพราะหากความยั่งยืนนั้นหมายถึงการผูกขาด แปรรูป และบังคับให้ผู้คนต้องซื้ออาหารจากบริษัทไม่กี่แห่ง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการจำกัดอิสรภาพในจานข้าว อาหารที่แท้ควรเป็นของทุกคน เป็นสิทธิ์พื้นฐานที่มนุษย์ควรสร้างได้เอง ไม่ใช่ต้องลงทะเบียนซื้อกับห้างใหญ่ ๆ ผ่าน QR code ทุกมื้อ
ทุกวันนี้ Beyond Meat ยังไม่ถึงจุดตกต่ำที่สุด และยังมีโอกาสกลับมาได้เสมอ แต่สิ่งนึงที่เราต้องตระหนักเอาไว้คือ นี่ยังเป็นแค่ยักษ์เล็กไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนพืชมาขยำเป็นรูปนั้น ณ วินาทีนี้ คือโบราณเกินไปแล้วครับ ในตลาดก็มีหมูปลอมเนื้อปลอมแบบนี้ออกมามากมาย หน้าตางดงามสมจริง แต่สิ่งเหล่านี้มันคือแค่จุดเริ่มต้นครับ ถ้าจะนับเรื่องราวเหล่านี้ว่าเริ่มจาก 2009 ก็ไม่ผิดนัก
เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจะมองเห็นลำดับชั้นของ ธุรกิจ นวตกรรม การครอบงำทางการตลาดแบบผูกมัดที่ตัดแขนตัดขาไปทีละนิดจนเราหมดสิทธิ์เลือก สิ่งเดียวที่เราจะเลือกได้คือ ซื้อเนื้อจากแลปไหน #pirateketo #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก #siamstr